000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > เทคนิคการปรับ EQ
วันที่ : 05/03/2018
98,976 views

เทคนิคการปรับ EQ

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

สืบเนื่องจากได้มีโอกาสทดสอบเครื่องปรับแต่งความถี่เสียง dbx 1231  ซึ่งมีช่วงความถี่ให้ปรับได้ถึง 31 ช่วง (? Octave EQ) เป็น graphic EQ (ปรับแล้ว ดูเหมือนเป็นกราฟความถี่ตอบสนอง) ขนาดผมคุ้นเคยกับพวก EQ มาตลอดชีวิต ยังหนักใจเลย ก็เลยคิดว่า น่าจะนำประสบการณ์การปรับ EQ มาบอกเล่ากันบ้าง

วิธีการ

  1. แบ่งช่วงความถี่เป็น 3 ช่วง หยาบๆ ก่อนคือ (กรณีปรับได้ 20 Hz - 25 kHz)

                ช่วงความถี่ต่ำ 20 Hz - 100 Hz

                ช่วงความถี่กลาง 100 Hz - 5000 Hz

                ช่วงความถี่สูง 5000 Hz - 25000 Hz
  2. ต้องการยกเสียงทุ้มให้ฟัง เน้น หนัก ตูม ยกแถวๆ 80 Hz - 100 Hz จะออกเหมือน “ONE NOTE BASS” ตูมๆ ยังหารายละเอียดอะไรไม่ได้
    ไล่ยก 30 Hz - 60 Hz เอาทุ้มลึก ให้ทุ้มมีน้ำหนักขึ้น อ้วน อิ่มขึ้น ทิ้งตัวลงพื้นมากขึ้น ได้ฐานเบสดีขึ้น กลางจะอวบอิ่ม มีมวล หวาน ผ่อนคลายขึ้น
    ยกต่ำกว่า 30 Hz จะได้ “ความรู้สึก (FEELING)” สัมผัสผิวกาย ไม่ใช่ด้วยเสียงทางหู ต้องระวัง เรามักหลง เพลิน ยกที่ต่ำกว่า 30 Hz มากๆ จนอาจสุด จะไปเป็นภาระแก่ภาคขยายอย่างเหลือล้น รวมทั้งดอกลำโพงทุ้ม (หรือกลาง/ทุ้ม กรณีลำโพง 2 ทาง) กรวยลำโพงจะขยับเข้า-ออกอย่างรุนแรง ช่วงกว้าง อาจเสี่ยงต่อวอยส์คอยล์ ดอกลำโพงหลุดจากช่องแม่เหล็กจนเสียศูนย์ กลับมาเบียดขูดกับช่อง เสียไปเลย (ที่เรียกว่า วอยส์เบียด)
    จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง เช่น ลดวอลลูมแอมป์ลง และฟังไม่ดังมาก คือ เลือกความถี่ต่ำลงลึก มากกว่าฟังดัง ตูมตาม จริงๆ ถ้าในระบบเสียงไม่มีตู้ซับแอคตีฟ ลำโพงไม่ใหญ่ แอมป์วัตต์ไม่เยอะขนาด 300 W. RMS/ข้างที่ 8 โอห์ม ไม่แนะนำให้ยกที่ความถี่ต่ำกว่า 30 Hz ลงมา นอกจากเปิดเบาๆ เอาทุ้มแบบลงลึก หวาน ชวนฝัน ตลบอบอวล
  3. การยกเสียงกลาง ซึ่งอยู่ในช่วงความถี่ 600 Hz - 7000 Hz ให้อิงเสียงร้อง (ขอเป็นนักร้องชายวัย 45-60 ปี อย่าง จิมรีฟ, คุณสุเทพ (สมัยหนุ่ม), สุชาติ ชวางกูร เป็นต้น)
    เริ่มที่ยกแถวๆ ช่วง 1000 Hz เสียงร้องจะหลุดลอยออกมาหาเรา
    ถ้าเสียงขาดเนื้อหนังหรือดูหนุ่มไป ไล่ยกเพิ่มแถวๆ 600 Hz - 800 Hz
    อยากได้เสียงลงท้อง อิ่มๆ อวบๆ ยกเพิ่ม 60 Hz - 100 Hz
    ถ้าเสียงร้องอู้ ก้อง ลดแถวๆ 200 - 300 Hz
    ต้องการหัวคำร้องชัดๆ  ยกแถวๆ 3000 Hz - 5000 Hz
    ต้องการเน้น ” , “s” ยกแถวๆ 10000 Hz - 14000 Hz
    ต้องการเสียงริมฝีปาก, ลมหายใจ (Breathing) ยก 18000 Hz - 25000 Hz (จะให้เสียงอื่นๆ ไล่ตั้งแต่ทุ้ม กลาง แหลม “คมชัด” เปิดโปร่งขึ้น หัวโน้ตชัน ชัดขึ้น เสียงโดยรวมโปร่งขึ้น)
    ถ้าเสียงร้องกระด้าง แข็ง กร้าว ลดแถวๆ 1200 Hz - 4000 Hz หรือ เพิ่มกลางต่ำช่วย แถวๆ 60-80 Hz
    การปรับเสียงกลางได้ดี จะทำให้เสียงตีกลอง ชัดขึ้น ผิวหน้ากลอง ตึง สมจริงขึ้น
    ถ้าร้องแจ๋น จ้า ลดความถี่แถวๆ 3000 - 5000 Hz
  4. การปรับเสียงสูง ตั้งแต่ 7000 Hz ขึ้นไป
    ถ้าปลายแหลมผอมไป เพิ่มแถวๆ 5000 - 7000 Hz
    ปลายแหลมสะบัด เน้นมากไป ลด 14000 Hz - 17000 Hz
    (อาจเพิ่มเติมให้ฟังสบายหูยิ่งขึ้นด้วยการลด 20000 Hz - 25000 Hz)
    ต้องการปลายแหลมไปไกล พริ้ว มีลมหายใจตัวโน้ต (AIRY) ยกตั้งแต่ 18000 Hz ขึ้นไป แต่ต้องค่อยๆ ยกทีละนิด แล้วฟังดูว่า มากไปจนสะบัดรึป่าว (ดอกแหลมที่ดีไม่พอ จะเกิดเสียงก้อง(สะบัด)ที่แหลมสุด (25000 Hz - 35000 Hz)
  5. การยก-ลด ให้กระทำทีละน้อยๆ ก่อน เช่น ตั้งแต่ 3 dB ขึ้นไป มิเช่นนั้นจะปรับช่วงความถี่อื่นๆ มาเข้า-รับกับมันได้ยาก
  6. บางครั้ง การ ลดทำให้ เพิ่มขึ้น” ! เช่น อยากได้เสียงร้องชัดขึ้น คลุมเครือ(อู้)น้อยลง แทนที่จะเอาแต่ยกแถวๆ 1000 Hz ให้ลอง “ลด” ที่ความถี่ต่ำกว่า 1000 Hz เช่น 600-800 Hz ลง จะพบว่า เสียงที่ 1000 Hz (เสียงร้อง) ชัดขึ้น หลุดลอยออกมามากขึ้นได้
    จำไว้ การลด ดีตรงที่ลดภาระของแอมป์และลำโพง ทำให้ความเพี้ยนลดลง มิติ ทรวดทรงแบนน้อยลง
  7. LEVEL MATCHING เป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้ามก่อนปรับ EQ ขณะที่เราตั้ง EQ ที่ FLAT (ผ่านวงจร EQ แต่ไม่ยก-ลดอะไร คือ อยู่ที่ 0 หมด)
    ให้เร่งขาออกจากแหล่งรายการ (ถ้าปรับได้) และขาเข้า (อัตราขยายหรือระดับขาออก) ของ EQ ให้สอดรับกัน เช่น ขาออกแหล่งรายการ (จากดังสุดที่ 100%) ให้เริ่มที่ 85-95% ความดังที่ EQ สมมุติที่เที่ยง (12 น.) ปรับขาออกแหล่งรายการมากขึ้น-ลดลงทีละนิด จนได้ “ทรวดทรง” ชิ้นดนตรี (นักร้อง) เป็น 3 มิติดีที่สุด จากนั้นปรับความดังที่ EQ ตามจนได้ทั้งน้ำหนักเสียง ความดัง ทรวดทรงนักร้อง/ชิ้นดนตรีเป็น 3D ที่สุดเช่นกัน แสดงว่า เราได้ปรับ LEVEL MATCHING ระหว่างแหล่งรายการไป EQ ได้ลงตัวที่สุดแล้ว
    ตอนนี้ละ จะพบว่า การปรับ EQ ง่ายขึ้นเยอะ สั่งได้ เชื่อง ไม่ดื้อ และสังเกตได้ง่ายว่า เราปรับน้อยไปหรือมากไปหรือเปล่า

ข้อสำคัญก่อนเริ่มใช้ EQ

  1. ต้อง (It’s a MUST)” อ่านบททดสอบในเว็บนี้ กล่องดูดคลื่น PERFECT POWER RT-1 (ตอน 3) ซึ่งผมพูดถึง การจูนชุดเครื่องเสียง ให้เตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบ จูน การใช้งาน RT-1 ซึ่งนำมาใช้กับการเล่น EQ ได้เป็นอย่างดี
    (ขอร้องว่าต้องอ่านก่อนนะครับ ไม่อย่างนั้น ปรับ EQ ให้ตายก็เอาดีไม่ได้ และออกทะเล เข้าป่าแน่นอน!)
  2. ดูบทความในเว็บนี้ เรื่อง EQ ยาพิษหรือตัวช่วย ประกอบด้วย จะได้ใช้ไม่ผิดงาน ไม่เอามีดโกนไปเฉือนท่อนซุง
  3. ลืมเรื่องการใช้ ดิจิตอล EQ ไปได้เลย อย่างเก่งก็แค่ปรับเสียงได้ แต่บอดในอารมณ์!! (ไม่ว่าถูก, แพงแค่ไหน)

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459